แนะนำ (RECOMMENDATION)

ใครอยากได้เนื้อหาเกี่ยวกับอะไรที่เกี่ยวข้องกับ ความปลอดภัย และงานสิ่งแวดล้อม ฝากข้อความไว้ได้ในหน้า แนะนำ ติชม นะคะ จะพยายามมาอัพข้อมูลให้ค่ะ

GHS - The Globally Harmonized System of Classification and Labelling of Chemicals

ระบบ GHS ครอบคลุม

สารเคมีอันตรายทุกชนิด สารละลายเจือจาง (dilution) และของผสม (mixture) ของสรเคมี แต่ไม่เกี่ยวข้องกับ เภสัชภัณฑ์ (ยารักษาโรค) สารเติมแต่งในอาหาร (Food additives) เครื่องสำอาง และสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้างอยู่ในอาหาร (Pesticide Residues in Food)


ประโยชน์ของการแยกประเภทที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก

โดยภาพรวมแล้วจะทำให้ง่ายต่อความเข้าใจในระดับระหว่างประเทศ ยกระดับการป้องกันอันตรายจากสารเคมีที่เกิดแก่มนุษย์และสิ่งแวดล้อม ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการค้าขายระหว่างประเทศ ลดความซ้ำซ้อนในการทดสอบและประเมินผล รวมทั้งทำให้เกิดมีการจัดการสารเคมีที่ดี (Sound Management of Chemical)


เกณฑ์ความเป็นอันตราย ที่ครอบคลุมโดยระบบ การแยกประเภทที่เป็นระบบเดียวกัน
ความเป็นอันตรายของสารและสารผสมแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ คือ


1 ความเป็นอันตรายทางกายภาพ แบ่งออกเป็น 16 ประเภท ได้แก่
* วัตถุระเบิด (Explosive)
* ก๊าซไวไฟ (Flammable Gases
* สารแอโรซอลไวไฟ (Flammable Aerosols)
* ก๊าซออกซิไดส์ (Oxidizing Gases)
* ก๊าซภายใต้ความดัน (Gases Under Pressure)
* ของเหลวไวไฟ (Flammable Liquids)
* ของแข็งไวไฟ (Flammable Solids)
* สารเคมีที่เกิดปฏิกิริยาได้เอง (Self Reactive Substance and Mixtures)
* ของเหลวที่ลุกติดไฟได้เองในอากาศ (Pyrophoric Liquids)
* ของแข็งที่ลุกติดไฟได้เองในอากาศ (Pyrophoric Solids)
* สารเคมีที่เกิดความร้อนได้เอง (Self Heating Substances and Mixtures)
* สารเคมีที่สัมผัสน้ำแล้วให้ก๊าซไวไฟ (Chemicals Which, in Contact with Water, Emit Flammable Gases)
* ของเหลวออกซิไดส์ (Oxidizing Liquids)
* ของแข็งออกซิไดส์ (Oxidizing Solids)
* สารเปอร์ออกไซด์อินทรีย์ (Organic Peroxides)
* สารกัดกร่อนโลหะ (Corrosive Substance to Metals)
2. ความเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แบ่งออกเป็น 10 ประเภท ได้แก่
* มีความเป็นพิษเฉียบพลัน (Acute Toxicity)
* กัดกร่อนและระคายเคืองต่อผิวหนัง (Skin Corrosive/Irritation)
* ทำลายดวงตาอย่างรุนแรงและระคายเคืองต่อดวงตา (Serious Eye Damage/Eye Irritation)
*ทำให้ไวต่ออาการแพ้ของระบบทางเดินหายใจหรือผิวหนัง (Respiratory or Skin Sensitization)
* ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของเซลล์สืบพันธุ์ (Germ Cell Mutagenicity)
* มีความสามารถในการก่อมะเร็ง (Carcinogenicity)
* มีความเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ (Toxic to Reproduction)
* มีความเป็นพิษต่อระบบหรืออวัยวะเป้าหมายเฉพาะเจาะจงเมื่อได้รับสัมผัสเพียง ครั้งเดียว (Specific Target Organ/Systemic Toxicity -Single Exposure)
* มีความเป็นพิษต่อระบบหรืออวัยวะเป้าหมายเฉพาะเจาะจง เมื่อได้รับสัมผัสซ้ำ(Specific Target Organ /Systemic Toxicity - Repeated Exposure)
* เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจส่วนล่างหรือทำให้ปอดอักเสบ (Aspiration Toxicity)

3. ความเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม


การสื่อสารความเป็นอันตราย มี 2 ส่วนคือ

การติดฉลาก (Label) และเอกสารข้อมูลความปลอดภัย (Safety Data Sheet)
1. การติดฉลากการสื่อสารความเป็นอันตรายโดยการติดฉลากเป็นวัตถุประสงค์หนึ่งของการจัดทำระบบการจัดกลุ่มผลิตภัณฑ์เคมีและการติดฉลาก ที่ต้องการพัฒนาให้เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก มุ่งเน้นที่ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับสารเคมีในสถานประกอบการ ผู้บริโภค ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการขนส่ง และผู้ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน สำหรับสารเคมีที่มีความเป็นอันตรายทางกายภาพ สุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ครอบคลุมถึง ยา สารปรุงแต่งอาหาร เครื่องสำอาง และสารตกค้างในอาหารจากยาปราบศัตรูพืช ในการพัฒนาระบบการติดฉลาก ได้มีการนำสัญลักษณ์ความเป็นอันตรายตามข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าอันตรายของสหประชาชาติมาใช้และจัดทำสัญลักษณ์ใหม่สำหรับความเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น โดยกำหนดให้ใช้สัญลักษณ์สีดำบนพื้นสีขาวและมีกรอบสีแดง ดังภาพที่ 1 รวมทั้งให้มี ชื่อผลิตภัณฑ์ คำสัญญาณ ข้อความแสดงความเป็นอันตราย ข้อควรระวัง และผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย ดังภาพที่ 2 เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบการ ผู้บริโภค ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการขนส่ง และผู้ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทราบข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นอันตรายเฉพาะของสารเคมีนั้นๆ ซึ่งต่างจากฉลากสำหรับการขนส่ง ที่มีขอบเขตของการติดฉลากเฉพาะสารที่มีความเป็นอันตรายทางกายภาพ ความเป็นพิษเฉียบพลันและความเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ที่มุ่งเน้นผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการขนส่ง และ ผู้ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินเป็นลำดับแรก โดยกำหนดให้มี สี สัญลักษณ์ ประเภทความเป็นอันตรายที่แสดงความเป็นอันตรายของวัตถุอันตรายนั้นๆทำให้สามารถอ่านได้ในระยะไกล และทราบความเป็นอันตรายได้อย่างรวดเร็ว


ข้อความที่ระบุข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับสารเคมีและวัตถุอันตรายอย่างน้อยต้องประกอบด้วย(1) ชื่อผลิตภัณฑ์หรือสารเคมีและวัตถุอันตราย (Product or Chemical Identifier)
(2) ผู้ผลิต (Supplier Identification) ต้องมีชื่อ ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่าย
(3) คำบอกสัญญาณ(Signal Word) หมายถึง คำที่ใช้เพื่อกำหนดระดับความสัมพันธ์ ของความรุนแรงของอันตรายและคำเตือนสำหรับผู้อ่านถึง โอกาสในการเกิดอันตราย
(4) ข้อความบอกความเป็นอันตรายของวัตถุอันตราย (Hazard Statement) หมายถึง วลีที่กำหนดขึ้นสำหรับประเภทและกลุ่มความเป็นอันตราย ที่อธิบายถึงลักษณะความเป็นอันตรายของผลิตภัณฑ์

(5) ข้อสนเทศที่เป็นข้อควรระวัง (Precautionary Information) และข้อสนเทศที่เป็นส่วนเสริมเพิ่มเติม (Supplement Information) ข้อควรระวัง หมายถึง กลุ่มคำ (และ/หรือ รูปสัญลักษณ์) ที่ระบุมาตรการแนะนำว่าควรปฏิบัติตามเพื่อลดหรือป้องกันการเกิดผลร้ายที่เกิดจากการ สัมผัสกับผลิตภัณฑ์อันตราย หรือการจัดเก็บหรือจัดการผลิตภัณฑ์อันตรายที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม
การจัดทำฉลาก ระบบการจัดกลุ่มผลิตภัณฑ์เคมีและการติดฉลาก ไม่มีการกำหนดตำแหน่งการจัดวางของข้อมูลที่อยู่บนฉลากผู้จัดทำสามารถใช้ดุลพินิจในการจัดวางบนฉลากได้เอง เนื่องจากภาชนะบรรจุมีขนาดแตกต่างกัน



2. เอกสารความปลอดภัย (Safety Data Sheet-SDS)

เอกสารที่มีข้อมูลที่ผู้ปฏิบัติงานใช้เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นอันตราย รวมถึงความเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและเพื่อเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับมาตรการด้านความปลอดภัย เป็นแหล่งอ้างอิงสำหรับการจัดการสารเคมีอันตรายในสถานประกอบการและข้อมูลบางส่วนเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขนส่ง วัตถุอันตราย ผู้ตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน ผู้ที่เกี่ยวข้องในการใช้งานยาปราบศัตรูพืช และผู้บริโภค เป็นต้น

ข้อมูลในเอกสารความปลอดภัย ประกอบด้วยหัวข้อ 16 ข้อตามลำดับ ดังนี้
1. ข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมี หรือสารผสม และบริษัทผู้ผลิต และ/หรือ จำหน่าย (Identification)
2. ข้อมูลระบุความเป็นอันตราย (Hazard(s) Identification)
3. องค์ประกอบและข้อมูลเกี่ยวกับส่วนผสม (Composition/Information on Ingredients)
4. มาตรการปฐมพยาบาล (First-Aid Measures)
5. มาตรการผจญเพลิง (Fire-Fighting Measures)
6. มาตรการจัดการเมื่อมีการหกและรั่วไหลของสารโดยอุบัติเหตุ (Accidental Release Measures)
7. การขนถ่ายเคลื่อนย้ายและการจัดเก็บ (Handling and Storage)
8. การควบคุมการรับสัมผัสและการป้องกันส่วนบุคคล (Exposure Controls/Personal Protection)
9. คุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมี (Physical and Chemical Properties)
10. ความเสถียรและการไวต่อปฏิกิริยา (Stability and Reactivity)
11. ข้อมูลด้านพิษวิทยา (Toxicological Information)
12. ข้อมูลผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ (Ecological Information)
13. ข้อพิจารณาในการกำจัด (Disposal Considerations)
14. ข้อมูลเกี่ยวกับการขนส่ง (Transport Information)
15. ข้อมูลเกี่ยวกับกฎข้อบังคับ (Regulatory Information)
16. ข้อมูลอื่น (Other Information)

การติดฉลาก ตามระบบการจัดกลุ่มผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อความปลอดภัย

1) วัตถุอันตรายที่เป็นอันตรายตามระบบการจัดกลุ่มผลิตภัณฑ์เคมีและการติดฉลาก และการขนส่ง บรรจุในภาชนะขนาดเล็กและบรรจุรวมในกล่องกระดาษ
(1) ภาชนะบรรจุขนาดเล็ก ติดฉลากตามระบบการจัดกลุ่มผลิตภัณฑ์เคมีและการติดฉลาก
(2) กล่องกระดาษ ซึ่งให้ในการขนส่ง ติดฉลากตามระบบการขนส่ง

2) วัตถุอันตรายที่เป็นอันตรายตามระบบการจัดกลุ่มผลิตภัณฑ์เคมีและการติดฉลาก แต่ไม่เป็นอันตรายตามระบบการขนส่ง บรรจุในภาชนะขนาดเล็กและบรรจุรวมในกล่องกระดาษ
(1) ภาชนะบรรจุขนาดเล็ก ติดฉลากตามระบบการจัดกลุ่มผลิตภัณฑ์เคมีและ การติดฉลาก
(2) กล่องกระดาษ ไม่ต้องติดฉลากตามระบบการขนส่ง

3) วัตถุอันตรายที่เป็นอันตรายตามระบบการจัดกลุ่มผลิตภัณฑ์เคมีและการติดฉลาก และการขนส่ง บรรจุในภาชนะขนาดใหญ่ที่ใช้สำหรับการขนส่งได้ เช่น ถัง 200 ลิตร ต้องติดฉลากตามระบบการจัดกลุ่มผลิตภัณฑ์เคมีและการติดฉลาก และ ติดฉลากตามระบบการขนส่ง

4) วัตถุอันตรายที่เป็นอันตรายตามระบบการจัดกลุ่มผลิตภัณฑ์เคมีและการติดฉลาก แต่ไม่เป็นอันตรายตามระบบการขนส่ง บรรจุในภาชนะขนาดใหญ่ที่ใช้สำหรับการขนส่งได้ เช่น ถัง 200 ลิตร ต้องติดฉลากตามระบบการจัดกลุ่มผลิตภัณฑ์เคมีและการติดฉลาก แต่ไม่ต้องติดฉลากตามระบบการขนส่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น