สุขอนามัยในการปฏิบัติงานและการตรวจสุขภาพลูกจ้าง
การปฏิบัติงานกับสารเคมีหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายต้องสวมใส่ชุดและอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล
และเมื่อใช้แล้วต้องนำอุปกรณ์มาทำความสะอาดอย่างถูกวิธีโดยห้ามนำอุปกรณ์มาทำความสะอาดรวมกับชุดหรืออุปกรณ์อื่นๆ ต้องทำความสะอาดมือทุกครั้งที่หยุดการทำงาน ห้ามรับประทานอาหารหรือสูบบุหรี่หากยังไม่ได้ทำความสะอาด หลังเลิกงานควรทำความสะอาดร่างกายทุกครั้ง
ผู้ปฏิบัติงานควรได้รับการตรวจสุขภาพ โดยการตรวจสุขภาพควรทำก่อนเริ่มทำงาน และมีการตรวจติดตามเป็นระยะๆเพื่อการเฝ้าระวัง หากพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นทำให้สามารถจัดการได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที ผู้ปฏิบัติงานควรได้รับทราบเกณฑ์การตรวจสุขภาพและการให้บริการต่าง ๆ ด้วย การตรวจสุขภาพทั่วไปประกอบด้วย การตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจร่างกายทั่วไป ตรวจดวงตา การได้ยิน และการตรวจปอด นอกจากนั้นผู้ที่ต้องปฏิบัติงานกับวัตถุอันตรายที่ให้ไอพิษและในการทำงานต้องสวมใส่หน้ากากช่วยหายใจ เพื่อเป็นการดูแลที่ดีควรทำการเอ๊กซเรย์ทรวงอก วัดประสิทธิภาพปอด และเน้นความสำคัญทางกายภาพที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ เยื่อแก้วตาเพิ่มเติม
สิ่งแวดล้อมในการทำงาน
อาคารเก็บวัตถุอันตรายหรือมีกิจกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับวัตถุอันตรายควรมีการระวังป้องกันเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การปนเปื้อนของวัตถุอันตรายลงสู่น้ำใต้ดิน การปล่อยวัตถุอันตรายหรือกลิ่นออกสู่บรรยากาศ และการป้องกันอัคคีภัย โดยให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ของเสียที่เกิดจากการปฏิบัติงาน
รวมถึงภาชนะบรรจุแผ่นรองที่ชำรุด ต้องได้รับการทำลายอย่างถูกวิธี ปลอดภัยและไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต้องไม่มีการรั่วไหลของวัตถุอันตรายลงสู่ทางระบายน้ำผิวดิน หรือแหล่งน้ำอื่น ยกเว้นว่าทางระบายน้ำนั้นเป็นทางที่นำไปสู่บ่อกักเก็บเพื่อการบำบัด หรือสู่โรงบำบัด ของเสียที่อาจเป็นอันตรายหมายถึงผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ภาชนะบรรจุที่ปนเปื้อน น้ำที่ปนเปื้อน และวัสดุดูดซับใช้แล้ว หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการกำจัดของเสียควรทำหน้าที่ในการให้คำแนะนำในการกำจัดของเสียเหล่านี้อย่างถูกต้องและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ข้อมูลในเอกสาร Material Safety Data Sheet ที่ผู้ผลิตจัดทำขึ้นนั้นจะระบุวิธีการกำจัดที่เหมาะสมไว้ด้วย
การสำรวจตรวจสอบ
การตรวจสอบสภาพทั่วไปของพื้นที่ปฏิบัติงาน การจัดเก็บ สภาพความเรียบร้อยของสินค้าภายในคลัง ตลอดจนการปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติงานเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้มั่นใจว่าผู้เกี่ยวข้องได้มีการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นอย่างเคร่งครัด การสำรวจตรวจสอบควรครอบ คลุมเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
- การสำรวจสภาพของบรรจุภัณฑ์ ฉลาก ป้าย เครื่องหมาย
- การตรวจสอบการจัดเก็บตามกฎการจัดเก็บวัตถุอันตราย
- การใช้เครื่องมือทุ่นแรงให้เหมาะสม
- ความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของคลัง
- เครื่องหมายความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน
- ระบบป้องกันอัคคีภัยและทางหนีภัยต่าง ๆ
- การใช้อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลระหว่างการปฏิบัติงาน
- อื่น ๆ
เพื่อให้ง่ายต่อการปฏิบัติงาน ในการสำรวจตรวจสอบนิยมใช้แบบตรวจสอบ (check list) และสามารถนำข้อมูลจากแบบตรวจสอบนี้มากำหนดมาตรการเสริมตามความจำเป็นได้ ข้อมูลบางอย่างที่ได้จากการสำรวจอาจนำมาใช้ประกอบการพิจารณาความเหมาะสมในการสร้างคลังจัดเก็บวัตถุอันตรายได้ด้วย หรืออาจใช้ในการพิจารณาปรับปรุงระบบการจัดการวัตถุอันตรายที่มีอยู่ให้เหมาะสมและปลอดภัยยิ่งขึ้น การสำรวจตรวจสอบนั้นผู้ทำการสำรวจตรวจสอบต้องพยายามให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องมากที่สุด แบบตรวจสอบควรได้รับการออกแบบ ให้เหมาะสมกับสภาพอาคารและลักษณะการทำงาน โดยยึดหลักให้สามารถตรวจสอบการทำงานให้ครอบคลุมทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น